ความหมายของหลักธรรมที่ชื่อว่า
“ฆราวาสธรรม”
ประกอบด้วย 2 คำ “ฆราวาส” แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก,ผู้ครองเรือน,และ “ธรรม”แปลว่า ความถูกต้อง,ความดีงาม,นิสัยที่ดีงาม,คุณสมบัติ,ข้อปฏิบัติ, ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ ขันติ แปลว่า อดทน จาคะ แปลว่า เสียสละ
ความสำคัญของหลักธรรม 4 ประการ ที่มีต่อการสร้างตัวนี้ พระพุทธองค์ถึงกับท้าให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศให้คนเราได้เท่ากับการมี “สัจจะ” หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการที่มี “ทมะ” หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี “ขันติ” หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี “จาคะ” หรือไม่ การที่พระพุทธองค์ทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือคนที่จะยืนหยัดผ่านอุปสรรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง “ฆราวาสธรรม” ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่มิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน
อานิสงส์ของการสร้างตัวให้มีฆราวาสธรรม
การมีสัจจะ ปลูกนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว-เป็นคนหนักแน่นมั่นคง-มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบหน้าที่การงาน-ได้รับความเคารพยกย่อง-มีคนเชื่อถือและยำเกรง-ครอบครัวมีความมั่นคง-ได้รับเกียรติยศชื่อเสียง การมีทมะ –ปลูกฝังนิสัยรักการฝึกฝนตนให้เกิดขึ้นในตัว-ทำให้เป็นคนมีความสามารถในการทำงาน-ไม่มีเวรกับใคร-ยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิดได้-สามารถตั้งตัวได้-มีปัญญาเป็นเลิศ การมีขันติ ปลูกฝังนิสัยการอดทนต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ-ทำงานได้ผลดี-สามารถเป็นหลักในครอบครัวได้-สามารถเป็นหลักให้กับบริวารได้-ไม่มีเรื่องวิวาทกับคนอื่น-ไม่หลงผิดไปทำความชั่วได้-ทำให้ได้ทรัพย์มา การมีจาคะ ปลูกฝังการมีอารมณ์ผ่องใสและนิสัยเสียสละให้เกิดขึ้นในตัว-เป็นการสร้างความปลอดภัยแก่ตนเอง-เป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป-ครอบครัวและสังคมเป็นสุข-มีกัลยาณมิตรรอบตัว
สรุปแล้วคุณของการมีฆราวาสธรรมโดยรวม ก็คือ เมื่อมีสัจจะย่อมมีเกียรติยศชื่อเสียง เมื่อมีทมะย่อมได้ปัญญา เมื่อมีขันติย่อมเกิดทรัพย์ในบ้าน และเมื่อมีจาคะย่อมเกิดมิตรที่ดีไว้เป็นสมัครพรรคพวกในสังคม
โทษของการไม่สร้างตัวให้มี “ฆราวาสธรรม”
การขาดสัจจะ-ปลูกนิสัยขาดความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว-เป็นคนเหลาะแหละ-พบแต่ความตกต่ำ-มีแต่คนดูถูก-ไม่มีคนเชื่อถือ-ไม่สามารถรองรับความเจริญต่างๆได้-ไร้เกียรติยศชื่อเสียง การขาดทมะ-ขาดนิสัยรักการฝึกฝนตนเอง-ทำให้ขาดความสามรถในการทำงาน-สามารถหลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย-จะเกิดทะเลาะวิวาทได้ง่าย-จะจมอยู่กับอบายมุข-ครอบครัวเดือดร้อน-ไม่สามารถตั้งตัวได้-เป็นคนโง่เขลา การขาดสติ- ไม่สามารถอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆได้-เป็นคนจับจด ทำงานคั่งค้าง-ไม่สามารถเป็นหลักให้ครอบครัวได้-หลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย-ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น-เต็มไปด้วยศัตรู-ขาดความเจริญก้าวหน้า-ทำให้เสื่อมจากทรัพย์ การขาดจาคะ-
ปลูกฝังความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในใจ-ได้รับคำครหา
ติเตียน-เป็นทุกข์ใจ-ไม่มีใครอยากเข้าใกล้
สรุปแล้วโทษของการขาดฆราวาสธรรมโดยรวมก็คือ เมื่อขาดสัจจะย่อมเกิดปัญหา ถูกหวาดระแวง เมื่อขาดทมะย่อมเกิดปัญหาความโง่เขลา เมื่อขาดขันติย่อมเกิดปัญหาความยากจน และเมื่อขาดจาคะย่อมเกิดปัญหาความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นในสังคม.
หลักสาราณียธรรม 6 ประการ
สาราณียธรรม 6 หมายถึง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ถือว่าเป็นธรรมที่เป็นพลังในการสร้างความสามัคคี มีอยู่ 6 ข้อ คือ
1.กายกรรม ประกอบด้วยความเมตตา คือ การกระทำทางกายที่ประกอบด้วยเมตตา เช่นการให้การอนุเคราะห์ช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ไม่รังแกทำร้ายผู้อื่น
2.วจีกรรม ประกอบด้วยเมตตา คือ การมีวาจาที่ดี สุภาพ อ่อนหวาน พูดมีเหตุผล ไม่พูดให้ร้ายผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน
3.มโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ความคิดที่ประกอบด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นการคิดดีต่อกันไม่คิดอิจฉาริษยาหรือไม่คิดมุ่งร้ายพยาบาท หากทุกคนคิดแล้วปฏิบัติเหมือนกันความสามัคคีก็จะเกิดขึ้นในสังคม
4.สาธารณโภคี คือ การรู้จักแบ่งสิ่งของให้กันและกันตามโอกาสอันควร เพื่อแสดงความรักความหวังดีของผู้ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน
5.สีลสามัญญตา คือ ความรักใคร่สามัคคี รักษาศีลให้เหมาะสมตามสถานะของตนมีความประพฤติสุจริต ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของหมู่คณะ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
6.ทิฉฐิสามัญญตา คือ การมีความเห็นร่วมกัน ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบ
ธรรม 6 ประการ ที่ผู้ใดได้ประพฤติจะเกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกื้อกูลกันไม่ทะเลาะวิวาทกัน อันจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีกันตลอดไป.
โอวาทของพระพุทธเจ้า
1.สัพพปาปัสสะ อกรณัง เว้นจากทุจริตทุกอย่าง
คือ เว้นประพฤติชั่วไม่กระทำบาปหยาบช้า
2.กุสลัสสูปสัมปทา ประกอบสุจริต
คือ ทำบุญทำกุศลให้ถึงพร้อม
3.สจิตตปริโยทปนัง ทำจิตให้หมดจด
คือ ทำจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทำจิตใจให้
ผ่องใส
ข้อควรพิจารณา
1.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่ธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
2.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
3.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไม่ได้
4.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
5.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว
อีกหนึ่งนัยยะที่ควรพิจารณา
1.มั่นพิจารณาสังขารตนว่า จักต้องร่วงโรยแก่ชราไปทุกขณะอย่ามัวลุ่มหลงอยู่ว่ายังหนุ่มยังสาว
2.ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นของธรรมดาคู่กับสิ่งมีชีวิต
3.ความตายเป็นวาระสุดท้ายของการมีชีวิต ไม่มีชีวิตใดจะหลีกเลี่ยงได้
4.เราต้องพลัดพรากจากของรักของหวงไม่วันนี้ก็วันหน้า
5.กรรมเป็นของตนเอง กระทำกรรมใดย่อมได้รับผลแห่งกรรม นั้น.
วัดอุทกวนาราม (นางแลใน) โทร.๐๘-๙๖๓๗-๕๔๐๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น