วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สลากภัตต์

สลากภัต พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ พุทธานุญาตภัตร
 สลากภัต เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎก เป็นชื่อเรียกวิธีถวายทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่ง โดยการจับสลากเพื่อแจกภัตตาหารหรือปัจจัยวัตถุที่ได้รับจากผู้ศรัทธาถวาย เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธาที่มีปัจจัยวัตถุจำกัดและไม่สามารถถวายแก่พระสงฆ์ทั้งหมดได้ โดยสลากภัตนับเนื่องในสังฆทานที่มีอานิสงส์มาก เพราะถือว่าแม้จะตั้งสลากถวายกับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่จับสลากได้ ย่อมเท่ากับถวายกับพระสงฆ์ทั้งหมด เพราะสลากที่จับนั้นพระสงฆ์ทุกรูปในอารามนั้นมีสิทธิ์ได้ นอกจากนั้นสลากภัตยังเป็นหลักการในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เพื่อสร้างจิตสำนึกความเท่าเทียมกันและสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันแก่คณะสงฆ์การถวายโดยอุทิศให้แก่สงฆ์ โดยอุทิศให้เป็นเผดียงสงฆ์ (ไม่ระบุเฉพาะว่าจะถวายรูปไหน) เช่นการถวายสลากภัต แม้พระจะได้รับของที่ถวายแค่รูปเดียว แต่ถือได้ว่าพระสงฆ์ที่มารับถวายเป็นพระที่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ก็นับเป็นสังฆทานที่สมบูรณ์เช่นกัน
ในประเทศไทย มีประเพณีสลากภัต ภาคเหนือเรียกว่า ประเพณีทานก๋วยสลาก นิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ ถึงเดือนยี่ของทุกปี สาเหตุที่ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหน โดยมีการรวมตัวของคณะศรัทธาทั้งหมู่บ้านนำผลไม้และอาหารคาวหวานรวมทั้งไทยทานต่างๆไปตั้งเป็นกัณฑ์สลากถวายพระภิกษุที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ เป็นประเพณีใหญ่สำหรับหมู่บ้านและวัดนั้น ๆ โดยในแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดการจัดประเพณีแตกต่างกันไปบ้าง
 คำถวายสลากภัตต์
.........เอตานิ มะยัง ภันเต สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุกัฏฐาเนฐะปิตานิ
ภิกขุสังฆะสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ
เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากังเจวะ มาตาปิตุ
อาทีนัญจะ ญาตะกานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ อาสะวักขะยาวะหัง นิพานะปัจจัยโยโหตุ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งสลากภัตและของอันเป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้ อันตั้งไว้แล้วในที่โน้น แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับ ซึ่งสลากภัตกับทั้งของอันเป็นบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แด่ญาติทั้งหลาย อันมีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย และเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นอาสวะทั้งปวงจนถึงซึ่งพระนิพพาน ด้วย เทอญ ฯ
ประเพณีสลากภัต
การทำบุญสลากภัต มีเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นเช่น กิ๋นก๋วยสลาก, กิ๋นสลาก, ตานก๋วยสลาก, ในภาษาเขียนใช้ สลากภัตหรือทานสลากวิธีการทำบุญมีแตกต่างกันไปตามความนิยมในท้องถิ่นของตนประเพณี สลากภัต นี้เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่พุทธสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงพระชนม์อยู่ ปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกายว่า พระพุทธองค์สรรเสริญพระสาวกอรหันต์ชื่อ พระโกณฑธานเถระ ซึ่งเป็นผู้มีโชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้ง พระสาวกทั้งหลายมีความสงสัยว่า ทำไมท่านจึงมีความโชคดีเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสบอกแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลว่า ท่านเป็นผู้ชอบทำบุญสลากภัตจึงเป็นคนโชคดี
ประวัติความเป็นมา
ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น วันหนึ่งนางกุมารีผู้หนึ่งได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขินีผู้มีเวรต่อกัน หลายชาติแล้ว ติดตามมาจะทำร้ายลูกของนาง นางเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นไม่ได้ จึงพาลูกวิ่งเข้าไปในวัดพระเชตวัน ในพระวิหารขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ นางเอาลูกน้อยวางแทบพระบาทแล้วกราบทูลว่า ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ขอทรงโปรดเป็นที่พึ่งแก่ลูกชายของหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าหยุดพฤติกรรมที่จองเวรของนางกุมาริกา และนางยักษ์ขินีด้วยการตรัสคำสอนว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวรแล้วทรงให้นางทั้งสองเห็นผิดชอบชั่วดี นางยักษ์ขินีรับศีล ๕ แล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น กราบทูลพระพุทธเจ้าว่านางไม่รู้จะไปทำมาหากินอย่างไรเพราะรักษาศีลเสียแล้ว นางกุมาริกาจึงรับอาสาจะพานางไปอยู่ด้วย นางได้รับอุปการะจากนางกุมาริกาหลายประการ นึกถึงอุปการะอยากจะตอบแทนบุญคุณ จึงเป็นผู้พยากรณ์บอกกล่าวเรื่อง ลมฟ้าอากาศ คือ บอกให้นางกุมาริกาทำนาในที่ดอนในปีฝนมาก ทำนาในที่ลุ่มในเวลาฝนแล้ง นางกุมาริกาได้ปฏิบัติตามทำให้ฐานะร่ำรวยขึ้น คนทั้งหลายมีความสงสัยจึงมาถามหาสาเหตุ นางจึงบอกว่า นางยักษ์ขินีเป็นผู้บอกกล่าวให้ คนทั้งหลายจึงพากันไปหานางยักษ์ขินีขอให้พยากรณ์ให้ตนบ้าง คนทั้งหลายได้รับอุปการะจากนางยักษ์ขินีจนมีฐานะร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ด้วยความสำนึกในบุญคุณ จึงพากันนำเอาเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารการกินเครื่องใช้สังเวยเป็นอัน มาก นางจึงนำมาทำเป็นสลากภัต โดยให้พระสงฆ์กระทำการจับตามเบอร์ด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก ราคาน้อย พระสงฆ์องค์ใดได้ของมีค่าน้อยก็อย่าเสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชคของตนดีหรือไม่ดี การถวายแบบจับสลากของนางยักษ์ขินีนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประเพณีทำบุญสลากภัต หรือทานสลากในสมัยพุทธกาล
ประเพณีสลากภัตในปัจจุบัน
ประเพณีถวายสลากภัต เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระพระสงฆ์วิธีหนึ่งอันเป็นที่นิยมของชาว เหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 ถึงแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ เมื่อทางวัดและชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลาก ก่อนวันถวายสลาก ชาวบ้านจะจัดทำพิธีเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน 1 วัน เรียกวันที่เตรียมของนี้ว่า วันดาชาวบ้านจะจัดเครื่องไทยทานลงใน ก๋วย” (เป็นตระกร้าหรือชะลอมขนาดเล็กที่สานด้วยไม้ไผ่) เรียกว่า ก๋วยสลากแล้วนำของไทยทานจำพบรรจุลงไป แต่ในปัจจุบันมีการดัดแปลงจาก ก๋วยสลากมาเป็น กล่องพลาสติกบรรจุเครื่องไทยทานที่เจ้าภาพมีศรัทธานำมาถวาย นอกจากนี้อาจจะมีการตกแต่งเครื่องไทยทานเป็นต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่สูงตามต้องการ นำไม้ไผ่เหลาและทำเป็นวงกลมทำเป็นชั้น ๆ อาจเป็น 3 ชั้น , 5 ชั้น , 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น แต่ละชั้นนำเครื่องไทยทานมาผูกติดให้สวยงาม ส่วนบนสุดจะนิยมนำร่ม/ฉัตรมาเสียบไว้ และใช้ปัจจัยผูกติดตามขอบร่มตามศรัทธาของเจ้าของกัณฑ์สลาก สลากแต่ละกองเรียกกัณฑ์ฉลากซึ่งมีเส้นสลากระบุเบอร์และชื่อเจ้าภาพให้พระจับ เมื่อพระจับได้ก็ให้เจ้าภาพนำไปถวายตามเบอร์ของตน ไม่สามารถเจาะจงพระสงฆ์ได้ ถ้าเป็นกองใหญ่พระท่านก็เมตตาไปรับและอ่านข้อความที่เขียนไว้อีกครั้ง กล่าวอนุโมทนาคาถา และให้พร เส้นสลากทั้งหมดจะให้ทางวัดรวบรวมไปเผาต่อไป
 ค่านิยมในการทำสลากภัต
1-ประชาชนว่างจากภารกิจการทำนา
2-ผลไม้เช่นส้มโอ,ส้มเขียวหวาน,ส้มเกลี้ยง,กำลังสุก
3-ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางไกลเพราะเป็นฤดูหนาว
4-พระสงฆ์จำพรรษาอยู่อย่างพรักพร้อมหลังออกพรรษา และเตรียมไปธุดงค์
5-ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจนเป็นสังคหทาน
6-ถือว่ามีอนิสงฆ์แรงคนทำบุญสลากมักจะมีโชคลาภเสมอ
7-มีโอกาสหาเงินและวัสดุบำรุงวัด หาปัจจัยซ่อมสร้างเสนาสนะ เจดีย์ที่เคารพบูชา
ด้วยเหตุผล๗ประการนี้ประชาชนชาวไทยในล้านนาจึงนิยมทำบุญสลากภัตกันเกือบทุกวัดมีแต่ หากว่าวัดใดมีงานตั้งธรรมหลวง ( เทศน์มหาชาติ ) วัดนั้นจะเว้นจากการทำบุญสลากภัตรเพราะจะเป็นภาระต่อชาวบ้าน
ศัพท์ที่ใช้ในพิธีสลากภัต
เส้นสลาก หมายถึงใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาวๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้ และบอกด้วยว่าอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นมักจะเขียนดังนี้ สลากกองนี้ หมายมีผู้ข้านายแก้ว นางดี ขอทานให้กับตนตัวในภายหน้าหมายถึง ถวายทานไว้อุทิศส่วนกุศลไว้สำหรับตัวเอง เมื่อล่วงลับไปแล้วจะได้รับเอาของไทยทานนั้นในปรโลก ซึ่งเป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนทั่วไปว่า เมื่อทำบุญถวายทานไว้ในพระศาสนาแล้วเมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปก็จะได้ไปเสวย อานิสงส์ผลบุญนั้นในโลกหน้าและจะมีการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ญาติพี่น้องผู้ ล่วงลับไปแล้วเช่น ผู้ข้าหนานเสนา บางบุ บ้านวังม่วง ขอทานไว้ถึงนางจันตาผู้เป็นแม่ที่ล่วงลับไปแล้วขอให้เป็นสุขเป็นสุขเถิดฯเป็นต้น
การแบ่ง เส้นสลากเป็นกองๆ รวม ๓ กอง กองหนึ่งคือของพระประธาน”(คือของวัด) ส่วนอีก ๒ กอง นั้นเฉลี่ยออกไปตามจำนวนพระภิกษุ-สามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากมีเศษเหลือก็มักจะปัดเป็นของพระเจ้าเสียเพื่อไปทำนุบำรุงวัดต่อไปตามอัตราส่วน พระประธาน(วัด)3ส่วน พระสงฆ์2ส่วนสามเณร1ส่วน
ก๋วยน้อย   เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้นหรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
ก๋วยใหญ่
เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธา
และฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง
สลากโชค นอกจากจะมี ก๋วยน้อย-ก๋วยใหญ่แล้ว ผู้ที่มีฐานะดี การเงินไม่ขัดสน ก็จะจัดเป็นพิเศษที่เรียกว่า สลากโชคหรือ "สลากสร้อย" สลากโชคนี้ทำเป็นพิเศษกว่าสลากธรรมดา และในสมัยก่อนมักจะทำเป็นรูปเรือนหลังเล็กๆ มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และรอบๆ เรือนหลังเล็กนั้นจะมีต้นกล้วย ต้นอ้อยผูกติดไว้ และยังมี ยอดปัจจัย หรือของมีค่าเช่น สร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือหรือเข็มขัดนาค เข็มขัดเงินผูกติดไว้ด้วย เพราะเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้วหากไปเกิดในภพอื่นๆ ก็จะได้รับสิ่งของที่ได้ถวายไปนี้
กัณฑ์สลาก แต่ละกองสลากเรียก กัณฑ์สลาก ซึ่งจะมีเส้นสลาก1เส้น, “ก๋วยหรือ กล่องพลาสติกไทยทาน 1กล่อง และหรือ ต้นกัลปพฤกษ์ 1ต้น
การทำและแต่งต้นกัลปพฤกษ์
1.นำไม้ไผ่สูงตามต้องการทำเป็นเสาสลากของต้นกัลปพฤกษ์
2. นำไม้ไผ่เหลาเป็นวงกลมทำเป็นชั้น ๆ อาจเป็น 3 ชั้น , 5 ชั้น , 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น แต่ส่วนมากนิยมทำเป็น9ชั้น
3.นำกระดาษย่นสีต่างๆมาพันรอบเสาและชั้นของต้นกัลปพฤกษ์
4. แต่ละชั้นก็นำเครื่องไทยทานมาผูกติดให้สวยงาม
5.ผ้าและของใช้สำหรับสงฆ์
6.ชั้นที่9นำ ผ้าขาว สำหรับบังสุกุลผ้าป่ามาติดไว้
7.ชั้นที่1นำของมีค่ามาห่อด้วยกระดาษเงินกระดาษทองแล้วนำมาห้อยไว้ให้สวยงาม
8. แล้วนำ ร่ม/ฉัตร คันเล็กมาติดปลายยอดสุด แล้วยังมีการผูกปัจจัยไว้ที่ขอบร่มตามศรัทธา
 อานิสงส์สลากภัต.....เนื่องจากเป็นการทำบุญที่แตกต่างจากธรรมดาเพราะมีการจับสลาก แล้วก็ถวายไปตามรายชื่อพระภิกษุสามเณรที่จับได้นั้น การทำบุญนี้เป็นการไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะเป็นพระภิกษุรูปใดหรือสามเณรองค์ใดก็ยินดีถวายทั้งนั้นเป็นการกำจัดกิเลสชนิดหนึ่งเรียกว่าอคติเสียได้
จากข้อความในชาดก
ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว มีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งนามว่า ปทุมมุตตระ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถีนครเป็นที่โคจรบิณฑบาต ..... มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเป็นคนยากจนอนาถา อยู่ในพระนครนั้นแสวงหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างหาฟืนขาย อยู่มาวันหนึ่งบุรุษผู้สามีพิจารณาดูการเลี้ยงชีพที่ฝืดเคืองนักก็เนื่องมาจากตนมิได้บำเพ็ญการกุศล มีการให้ทานรักษาศีล สดับรับฟังพระธรรมเทศนาและเจริญภาวนาเป็นต้นในชาติปางก่อนอย่างแน่นอน มาในชาตินี้จึงเป็นคนเข็ญใจไร้ทรัพย์อับปัญญา เมื่อมาพิจารณาดังนี้แล้ว จิตใจก็อยากจะทำบุญให้ทานเพื่อจะได้เป็นนิธิขุมทรัพย์ เป็นเสบียงไปในปรภพเบื้องหน้า จึงปรึกษากับภรรยาของตนตามที่เจตนาดำริไว้นั้น ฝ่ายภรรยาก็คล้อยตามไปด้วยความยินดี และรีบจัดแจงหาเครื่องไทยทาน ตามสมควรแก่กำลังของตน แล้วนำไปสู่อารามทำเป็นสลากภัตพร้อมกับมหาชนทั้งหลาย สามีภรรยาคู่นั้นจับสลากถูกภิกษุรูปหนึ่งจึงน้อมเข้าไปถวายด้วยความปีติ แล้วตั้งความปรารถนาว่าเดชะบุญกุศลผลทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าบริบูรณ์ด้วยยศศักดิ์สมบัติบริวาร ขึ้นชื่อว่าความตกทุกข์ได้ยากเข็ญใจ เหมือนในชาตินี้อย่า ได้พึงมีแก่ข้าพเจ้าในภพต่อ ๆ ไปเลย สามีภรรยาคู่นั้นอยู่ต่อมาจนสิ้นอายุขัยทำกาลกิริยาตายไปแล้วก็อุบัติในดาวดึงส์สวรรค์ สิ้นบุญแล้วก็มาเกิดเป็นพระเจ้าศรัทธาติสสะ ณ เมืองพาราณสี พระเจ้าศรัทธาติสสะนั้นครั้นกลับชาติมาก็คือพระตถาคตนี้เอง เมื่อสิ้นกระแสพระธรรมเทศนาแล้วเหล่าพุทธบริษัท ทั้งหลาย มีพระเจ้าปัสเสนทิโกศลเป็นต้น ก็ชื่นชมผลทานในการถวายสลากภัตเป็นยิ่งนัก


























                        2 ตุลาคม 2557 งานสลากภัตต์ครั้งที่ 4 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น