"หลักธรรมคำสอน"
ถือได้ว่าเป็นเครื่องที่ยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับ
"พุทธศาสนิกชน" ทุกคน ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบแผนและแนวทางในการดำรงชีวิต อย่างถูกต้องและมีความสุข... และถ้าหากพูดถึงเรื่องหลักธรรมคำสอนแล้ว เชื่อเลยค่ะว่า หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "มงคลชีวิต 38 ประการ" ซึ่งเป็น "คุณธรรม" ที่หากยึดปฏิบัติแล้ว จะส่งให้ชีวิตพบเจอแต่ความสุข ความเจริญ คำว่า "มงคล" นั่นหมายถึง เหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ โดยนำมาจากบท "มงคลสูตร" ที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า "คุณธรรมอันใดที่ทำ ให้ชีวิตประสบความเจริญ" โดยพระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า คุณธรรมนั้นนั่นก็คือ "มงคลชีวิต" ซึ่งก็มี 38 ประการ ได้แก่ ... 1. การไม่คบคนพาล ท่านว่าลักษณะของคนพาลมี 3 ประการคือ
1.
คิดชั่ว คือการมีจิตคิดอยากได้ในทางทุจริต มีความพยาบาท
และมิจฉาทิฏฐิ
คือ เห็นผิดเป็นชอบ 2. พูดชั่ว คือคำพูดที่ประกอบไปด้วยวจีทุจริต เช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ 3. ทำชั่ว คือทำอะไรที่ประกอบด้วยกายทุจริต เช่น การฆ่าสัตว์ ลักขโมย ฉ้อโกง ฉุดคร่าอนาจาร ประพฤติผิดในกาม รูปแบบของคนพาล มีข้อควรสังเกต คือ 1. ชอบแนะนำไปในทางที่ผิด หรือที่ไม่ควรแนะนำ เช่น แนะนำให้ไปเล่นการพนัน ให้ไปลักขโมย ให้กินยาบ้า ให้เสพยา ชวนไปฉุดคร่าอนาจาร เป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นพาล 2. ชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เช่น ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย แต่กลับชอบจะไปก้าวก่ายยุ่งกับหน้าที่การงานของผู้อื่น หรือไปจับผิดเพื่อนร่วมงาน แกล้ง ยุยง นินทาว่าร้ายกันและกัน เป็นต้น 3. ชอบทำผิดโดยเห็นสิ่งผิดเป็นของดี เช่น การสูบยาได้เป็นฮีโร่ เห็นคนที่ซื่อสัตย์เป็นคนโง่ไม่กินตามน้ำ ชอบรับสินบน ทุจริตในหน้าที่ หรือช่วยพวกพ้องให้พ้นจากความผิด เป็นต้น 4. จะโกรธเคืองเมื่อพูดเตือน เช่น การเตือนเรื่องการเที่ยวเตร่ เตือนเรื่องการดื่มเหล้า กลับบ้านดึก เตือนเรื่องการคบเพื่อนเป้นต้น คนพวกนี้จะโกรธเมื่อได้รับการตักเตือน และไม่รับฟัง 5. ไม่มีระเบียบวินัย เช่น ไม่เข้าคิวตามลำดับก่อนหลัง แต่ชอบแซงคิวอย่างหน้าด้าน ๆ ทิ้งขยะลงคลอง หรือข้างทาง ไม่เคารพกฎหมายของบ้านเมือง หรือของท้องถิ่น เป็นต้น 2. การคบบัณฑิต บัณฑิต หมายถึงผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้ดีรู้ชั่ว มีลักษณะดังนี้... 1. เป็นคนคิดดี คือการไม่คิดละโมบ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร รู้จักให้อภัย เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ความกตัญญูรู้คุณ เป็นต้น 2. เป็นคนพูดดี คือวจีสุจริต พูดจริง ทำจริงไม่โกหก ไม่พูดหยาบ ถากถาง นินทาว่าร้าย 3. เป็นคนทำดี คือทำอาชีพสุจริต มีเมตตา ทำทานเป็นปกตินิสัย อยู่ในศีลธรรม ทำสมาธิภาวนา รูปแบบของบัณฑิต มีข้อควรสังเกตคือ 1. ชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร เช่น การชักนำให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ตักเตือนให้ทำความดี อย่างเช่น ให้เลิกเล่นการพนัน เป็นต้น 2. ชอบทำในสิ่งที่เป็นธุระ เช่น การทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง และใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่นเว้นแต่จะได้รับการร้องขอ
3.
ชอบทำและแนะนำสิ่งที่ถูกที่ควร เช่น การพูดและทำอย่างตรงไปตรงมา
แนะนำการทำทานที่ถูกต้อง ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น 4. รับฟังดี ไม่โกรธ เช่น เมื่อมีคนมาว่ากล่าวก็ไม่ถือโทษ หรือโกรธ หรือทำอวดดี แต่จะรับฟังแล้วนำไปพิจารณาโดยยุติธรรม แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุง 5. รู้ระเบียบ กฎกติกามรรยาทที่ดี เช่น การรักษาระเบียบวินัยขององค์กร เพื่อให้หมู่คณะมีความเป็นระเบียบ และการดำเนินงานไม่สับสน หรือการรักษาความสะอาด ปฏิบัติ และเคารพกฎของสถานที่ ไม่ทำตามอำเภอใจ 3. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา การบูชา คือการแสดงความเคารพบุคคลที่เรานับถือ ยกย่อง เลื่อมใส ในบุคคลคนนั้น ซึ่งการบูชาแบ่งออกเป็น 2 อย่า คือ 1. อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น การนำเงินให้พ่อแม่ไว้ใช้จ่าย หรือมอบทรัพย์สินให้พ่อแม่ หรือการนำดอกไม้ ธูปเทียนไปบูชาพระก็ถือเป็นอามิสบูชา เป็นต้น 2. ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการเจริญสมาธิภาวนา การฝึกจิตให้ไม่ฟุ้งซ่าน เห็นความจริงในความเป็นไปของโลก เป็นต้น บุคคลที่ควรบูชา มีดังนี้คือ 1. พระพุทธเจ้า 2. พระปัจเจกพระพุทธเจ้า หมายถึงพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา 3. พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม 4. บิดามารดา 5. ครูอาจารย์ ที่มีความรู้ดี มีความสามารถ และประพฤติดี 6. อุปัชฌาย์ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม 4. การอยู่ในถิ่นอันสมควร ถิ่นอันสมควรควรประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม 4 อย่าง ได้แก่ 1. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง อยู่แล้วสบาย เช่น สะอาด เดินทางไปมาสะดวก อากาศดี เป็นแหล่งชุมชน ไม่มีแหล่งอบายมุข เป็นต้น 2. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เช่น มีแหล่งอาหารที่สามารถจัดซื้อหามาได้ง่าย เป็นต้น 3. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง ที่ที่มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีศีลธรรม ไม่มีโจร นักเลง หรือใกล้แหล่งอิทธิพล เป็นต้น 4. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึงมีที่พึ่งด้านธรรมะ มีที่ฟังธรรม เช่น มีวัดอยู่ในละแวกนั้น มีโรงเรียน หรือแหล่งศึกษาหาความรู้ เป็นต้น 5. เคยทำบุญมาก่อน ขึ้นชื่อว่าบุญนั้น มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ 1. ทำให้กาย วาจา และใจ สะอาดได้ 2. นำมาซึ่งความสุข 3. ติดตามไปได้ หมายถึง บุญจะติดตัวเราไปได้ตลอดจนถึงชาติหน้า 4. เป็นของเฉพาะตน หมายถึง ขอยืม หรือแบ่งกันไม่ได้ ทำเองได้เอง 5. เป็นที่มาของโภคทรัพย์ทั้งหลาย คือว่าผลของบุญจะบันดาลให้เกิดขึ้น ได้เองโดยไม่ได้หวังผล 6. ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ และนิพพานสมบัติแก่เราได้ หมายถึง ความสมบูรณ์ตั้งแต่ทางโลก จนถึงนิพพานได้เลย 7. เป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งนิพพาน ก็คือเป็นปัจจัยในการส่งเสริม ให้บรรลุถึงนิพพานได้เร็วขึ้นเมื่อปฏิบัติ 8. เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏสงสาร หมายถึงในวงจรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือที่เรียกว่าเวียนว่ายตายเกิดนั้น บุญจะคุ้มครองให้ผู้นั้นเกิดในที่ดี อยู่อย่างมีความสุข หรือตายอย่างไม่ทรมาน ขึ้นอยู่กับกำลังบุญที่สร้างสมมา การทำบุญนั้นมีหลายวิธี แต่พอสรุปได้สั้น ๆ ดังนี้ 1. การทำทาน 2. การรักษาศีล 3. การเจริญภาวนา 6. การตั้งตนชอบ การตั้งตนชอบ หมายถึง การดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ด้วยความถูกต้องและสุจริต อยู่ในสัมมาอาชีพ มีแผนการที่จะไป ให้ถึงจุดหมายนั้นด้วยความไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อม และมีความอดทนไม่ละทิ้งกลางคัน 7. ความเป็นพหูสูต คือเป็นผู้ที่ฟังมาก เล่าเรียนมาก เป็นผู้รอบรู้ โดยมีลักษณะดังนี้ 1. รู้ลึก คือ การรู้ในสิ่งนั้น ๆ เรื่องนั้น ๆ อย่างหมดจดทุกแง่ทุกมุม อย่างมีเหตุมีผล รู้ถึงสาเหตุจนเรียกว่าความชำนาญ 2. รู้รอบ คือ การรู้จักช่างสังเกตในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่นเหตุการณ์แวดล้อม เป็นต้น 3. รู้กว้าง คือ การรู้ในสิ่งใกล้เคียงกับเรื่องนั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กัน เป็นต้น 4. รู้ไกล คือ การศึกษาถึงความเป็นไปได้ ผลในอนาคตเป็นต้น ถ้าอยากจะเป็นพหูสูตก็ควรต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1. ความตั้งใจฟัง ก็คือ ชอบฟัง ชอบอ่านหาความรู้ และค้นคว้า เป็นต้น 2. ความตั้งใจจำ ก็คือ รู้จักวิธีจำ โดยตั้งใจอ่านหรือฟังในสิ่งนั้น ๆ และจับใจความให้ได้ 3. ความตั้งใจท่อง ก็คือ ท่องให้รู้โดยอัตโนมัติ ไม่ลืม ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ 4. ความตั้งใจพิจารณา ก็คือ การรู้จักพิจารณา ตรึกตรองในสิ่งนั้นๆอย่างทะลุปรุโปร่ง 5. ความเข้าใจในปัญหา ก็คือ การรู้อย่างแจ่มแจ้งในปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา 8. การรอบรู้ในศิลปะ
ศิลปะ
คือสิ่งที่แสดงออกถึงความงดงาม และมีความสุนทรีย์ โดยลักษณะของมันมีดังนี้
1. มีความปราณีต 2. ทำให้ของดูมีค่ามากขึ้น 3. ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ 4. ไม่ทำให้เกิดกามกำเริบ 5. ไม่ทำให้เกิดความพยาบาท
6.
ไม่ทำให้เกิดความเบียดเบียน
ถ้าท่านอยากเป็นคนมีศิลปะ ควรต้องฝึกให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ในตัว คือ 1. มีศรัทธาในความงดงามของสิ่งต่าง ๆ 2. หมั่นสังเกตและพิจารณา 3. มีความปราณีต อารมณ์ละเอียดอ่อน 4. เป็นคนสุขุม มีความคิดสร้างสรรค์ 9. มีวินัยที่ดี วินัย ก็คือ ข้อกำหนด ข้อบังคับ กฎเกณฑ์เพื่อควบคุมให้มีความเป็นระเบียบนั่นเอง มีทั้งวินัยของสงฆ์และของคนทั่วไป สำหรับของสงฆ์นั้น มีทั้งหมด 7 อย่างหรือเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนของบุคคลทั่วไปก็มี 10 อย่าง คือการละเว้นจากอกุศลกรรม 10 ประการ อนาคาริยวินัยของพระมีดังนี้ 1. ปาฏิโมกขสังวร คือ การอยู่ในศีลทั้งหมด 227 ข้อ การผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าต้องโทษแล้วแต่ความหนักเบา เรียงลำดับกันไปตั้งแต่ ขั้นปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต เป็นต้น (ความหมายของแต่ละคำมันต้องอธิบายเยอะ จะไม่กล่าวในที่นี้) 2. อินทรียสังวร คือการสำรวมอายตนะทั้ง 5 และกาย วาจา ใจ ให้อยู่กับร่องกับรอย โดยอย่าไปเพลิดเพลินติดกับสิ่งที่มาสัมผัสเหล่านั้น 3. อาชีวปาริสุทธิสังวร คือการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ นั่นก็คือการออกบิณฑบาตร ไม่ได้เรียกร้อง เรี่ยไรหรือเที่ยวขอเงินชาวบ้านมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของตัวเอง 4. ปัจจัยปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณาในสิ่งของทั้งหลาย ถึงคุณประโยชน์โดยเนื้อแท้ของสิ่งของเหล่านั้น อย่างแท้จริง โดยใช้เพื่อบริโภค เพื่อประโยชน์ ความอยู่รอด และความเป็นไปของชีวิตเท่านั้น วินัยสำหรับฆราวาส หรือบุคคลทั่วไป เรียกว่าอาคาริยวินัย มีดังนี้ (อกุศลกรรมบถ 10 ประการ) 1. ไม่ฆ่าชีวิตคน หรือสัตว์ไม่ว่าน้อย ใหญ่ 2. ไม่ลักทรัพย์ ยักยอกเงิน สิ่งของมาเป็นของตัว 3. ไม่ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมีย ข่มขืนกระทำชำเรา 4. ไม่พูดโกหก หลอกลวงให้หลงเชื่อ หรือชวนเชื่อ 5. ไม่พูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย ยุยงให้คนแตกแยกกัน 6. ไม่พูดจาหยาบคาย ให้เป็นที่แสลงหูคนอื่น 7. ไม่พูดจาไร้สาระ หรือที่เรียกว่าพูดจาเพ้อเจ้อไม่มีสาระ เหตุผล หรือประโยชน์อันใด 8. ไม่โลภอยากได้ของเขา คือมีความคิดอยากเอาของคนอื่นมาเป็นของเรา 9. ไม่คิดร้าย ผูกใจเจ็บ แค้น ปองร้ายคนอื่น 10. ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีความสำคัญ บุญหรือกรรมไม่มีจริงเป็นต้น 10. กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต คำว่า วาจาอันเป็นสุภาษิตในที่นี้ มิได้หมายถึงเพียงว่าต้องเป็นคำร้อยกรอ ง ร้อยแก้ว เป็นคำคมบาดใจมีความหมายลึกซึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงคำพูดที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ซึ่งสรุปว่าประกอบด้วยลักษณะดังนี้ 1. ต้องเป็นคำจริง คือ ข้อมูลที่ถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาพูด 2. ต้องเป็นคำสุภาพ คือ พูดด้วยภาษาที่สุภาพ มีความไพเราะ ในถ้อยคำ ไม่มีคำหยาบโลน หรือคำด่า 3. พูดแล้วมีประโยชน์ คือ มีประโยชน์ต่อผู้ฟังถ้าหากนำแนวทางไปคิด หรือปฏิบัติในทางสร้างสรรค์
4.
พูดด้วยจิตที่มีเมตตา คือ
พูดด้วยจิตใจที่มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง
มีความจริงใจต่อผู้ฟัง 5. พูดได้ถูกกาลเทศะ คือ พูดในสถานที่เหมาะสม และในเวลาที่เหมาะสม โดยความเหมาะสมจะมีมากน้อยเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่พูด 11. การบำรุงบิดามารดา ท่านว่าพ่อแม่นั้นเปรียบได้เป็นทั้ง ครูของลูก เทวดาของลูก พรหมของลูก และอรหันต์ของลูก ความหมายโดยละเอียดมีดังต่อไปนี้ - ที่ว่าเป็นครูของลูก เพราะว่าท่านได้คอยอบรมสั่งสอนลูก เป็นคนแรกก่อนคนอื่นใดในโลก - ที่ว่าเป็นเทวดาของลูก เพราะว่าท่านจะคอยปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดู ประคบประหงมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก บำรุงให้เติบใหญ่เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกในทุกด้าน - ที่ว่าเป็นพรหมของลูก เพราะว่าท่านมีพรหมวิหาร 4 นั่นก็คือ มีเมตตา หมายถึงความเอ็นดู ความปรารถนาดีต่อลูกในทุก ๆ ด้าน ไม่มีที่สิ้นสุด มีกรุณา หมายถึงให้ความกรุณาต่อลูก ลูกอยากได้อะไรก็หามาให้ลูก ให้การศึกษาเล่าเรียน ส่งเสียเท่าที่มีความสามารถจะให้ได้ มีมุทิตา หมายถึง ความรักที่ยอมสละได้แม้ชีวิตของตัวเองเพื่อลูก ยอมเสียสละได้ทุกอย่าง และมีอุเบกขา หมายถึงการวางเฉย ไม่ถือโกรธเมื่อลูกประมาท ซน ทำผิดพลาดเพราะความไร้เดียงสา หรือเพราะความไม่รู้ - ที่ว่าเป็นอรหันต์ของลูก เพราะว่าท่านมีคุณธรรม 4 ประการอัน ได้แก่ - เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อลูก คือ อุปการะเลี้ยงดูมาด้วยความเหนื่อยยาก กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ - เป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อลูก คือ ให้ความอบอุ่นเลี้ยงดู ปกป้องจากภยันตรายต่าง ๆ นานา - เป็นเนื้อนาบุญของลูก คือ ลูกเป็นส่วนหนึ่งของกรรมดีที่พ่อแม่ได้ทำไว้ และเป็นผู้รับผลบุญที่พ่อแม่ได้สร้างไว้แล้วทางตรง - เป็นอาหุไนยบุคคล คือ เป็นเหมือนพระที่ควรแก่การเคารพนับถือ และรับของบูชา เพื่อเทิดทูนไว้เป็นแบบอย่าง การทดแทนพระคุณบิดามารดาท่านสามารถทำได้ดังนี้ ระหว่างเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทน ช่วยเหลือเป็นธุระเรื่องการงานให้ท่าน ดำรงวงศ์ตระกูล ให้สืบไปไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย รวมทั้งประพฤติตนให้ควรแก่การเป็นสืบทอดมรดกจากท่าน ครั้นเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศกุศลให้ท่าน ส่วนการเป็นลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ ในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าไว้ดังนี้ 1. ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือพยายาม ให้ท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องการทำดี 2. ถ้าท่านยังไม่มีศีล ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศีล คือพยายามให้ท่านเป็นผู้รักษาศีล 5 ให้ได้ 3. ถ้าท่านเป็นคนตระหนี่ ให้ท่านถึงพร้อมด้วยการให้ทาน คือพยายามให้ท่านรู้จักการให้ด้วยเมตตาโดยไม่หวังผลตอบแทน 4. ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยปัญญา คือพยายามให้ท่านหัดนั่งทำสมาธิภาวนาให้ได้ 12. การสงเคราะห์บุตร คำว่าบุตรนั้น มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ 1. อภิชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเหนือกว่าบิดา มารดา 2. อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเสมอบิดา มารดา 3. อวชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถต่ำกว่าบิดา มารดา
การที่เราเป็นพ่อ
เป็นแม่ของบุตรนั้น มีหน้าที่ที่ต้องให้กับลูกของเรา คือ
1. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว 2. ปลูกฝัง สนับสนุนให้ทำความดี 3. ให้การศึกษาหาความรู้ 4. ให้ได้คู่ครองที่ดี (ใช้ประสบการณ์ของเราให้คำปรึกษาแก่ลูก ช่วยดูให้) 5. มอบทรัพย์ให้ในโอกาสอันควร (การทำพินัยกรรม ก็ถือว่าเป็นสิ่งถูกต้อง) 13. การสงเคราะห์ภรรยา เมื่อ ว่าด้วยเรื่องคนที่จะมาเป็นคู่ครองของชาย หรือที่เรียกว่าจะมา เป็นภรรยานั้น ในโลกนี้ท่านแบ่งลักษณะของภรรยาออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1. วธกาภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยเพชรฆาต เป็นพวกที่มีจิตใจคิดไม่ดี ชอบทำร้าย ชอบด่าทอสาปแช่ง คิดฆ่าสามี หรือมีชู้กับชายอื่น 2. โจรีภริยา หมาย ถึง ภรรยาเสมอด้วยโจร เป็นคนล้างผลาญ สร้างหนี้สิน หาได้เท่าไรก็ไม่พอ หรือเอาเรื่องในบ้านไปโพทนา ให้คนข้างนอกรับรู้ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง 3. อัยยาภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยนาย เป็นคนชอบข่มสามีให้อยู่ในอำนาจ ไม่ให้เกียรติสามีเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น ชอบสั่งการหรือเอาแต่ใจตัวเอง เห็นสามีเป็นคนไร้ความสามารถ แต่ตัวเองเป็นผู้นำ 4. มาตาภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยแม่ คือผู้ที่มีความรักต่อสามีอย่างสุดซึ้ง ไม่เคยทอดทิ้งแม้ยามทุกข์ยาก ป่วยไข้ ไม่ทำให้มีเรื่องสะเทือนใจ 5. ภคินีภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว คือผู้ที่มีความเคารพต่อสามี ในฐานะพ่อบ้าน แต่ขัดใจกันบ้างตามประสาคนใกล้ชิดกันแล้วก็ให้อภัยกัน โดยไม่คิดพยาบาท เดินตามแนวทางของสามี ต้องพึ่งพาสามี 6. สขีภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน ต่างคนต่างก็มีอะไรที่เหมือนกัน ความสามารถพอกัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัน ไม่ค่อยยอมกัน เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็รักกันและช่วยเหลือกันโดยต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง 7. ทาสีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยคนรับใช้ คือภรรยาที่อยู่ภายใต้คำสั่งสามีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง สามีเป็นผู้เลี้ยงดู สั่งอะไรก็ทำอย่างนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยก็ไม่ออกความเห็น อดทนทำงานตามหน้าที่ตามแต่สามีจะสั่งการ แม้ถูกดุด่า เฆี่ยนตีก็ยังทนอยู่ได้โดยไม่โต้ตอบ ท่านว่าคนที่จะมาเป็นสามี ภรรยาได้ดีหรือคู่สร้างคู่สมนั้นควรต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1. สมสัทธา คือมีศรัทธาเสมอกัน 2. สมสีลา คือมีศีลเสมอกัน 3. สมจาคะ คือมีการเสียสละเหมือนกัน 4. สมปัญญา คือมีปัญญาเสมอกัน เมื่อได้แต่งงานกันแล้ว แต่ละฝ่ายก็มีหน้าที่ที่ต้องทำดังนี้ สามีมีหน้าที่ต่อภรรยาคือ 1. ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา คือ การแนะนำเปิดเผยว่าเป็นภรรยา ไม่ปิดบังกับผู้อื่น และให้เกียรติภรรยาในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วย 2. ไม่ดูหมิ่น คือไม่ดูถูกภรรยาเมื่อทำไม่เป็น ทำไม่ถูก หรือเรื่องชาติตระกูล การศึกษาว่าต่ำต้อยกว่าตน แต่ต้องสอนให้ 3. ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา คือ การไปมีเมียน้อยนอกบ้าน เลี้ยงต้อย หรือเที่ยวเตร่หาความสำราญกับหญิงบริการ 4. มอบความเป็นใหญ่ให้ในบ้าน คือ การมอบธุระทางบ้านให้กับภรรยาจัดการ รับฟังและทำตามความเห็นของภรรยาเกี่ยวกับบ้าน 5. ให้เครื่องแต่งตัว คือ ให้ความสุขกับภรรยาเรื่องการแต่งตัวให้พอดี เพราะสตรีเป็นผู้รักสวยรักงามโดยธรรมชาติ ฝ่ายภรรยาก็มีหน้าที่ต้องตอบแทนสามี คือ 1. จัดการงานดี คือ งานบ้านการเรือนต้องไม่บกพร่อง ดูแลด้านความสะอาด ทำนุบำรุงรักษา ด้านโภชนาการให้เรียบร้อยดี 2. สงเคราะห์ญาติสามีดี คือ ให้ความเอื้อเฟื้อญาติฝ่ายสามี เท่าที่ตนมีกำลังพอทำได้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียว 3. ไม่ประพฤตินอกใจสามี คือ ไม่คบชู้ หรือปันใจให้ชายอื่น ซื่อสัตย์ต่อสามีคนเดียว 4. รักษาทรัพย์ให้อย่างดี คือ รู้จักรักษาทรัพย์สินไว้ไม่ให้หมดไปด้วยความสิ้นเปลือง แต่ก็ไม่ถึงกับตระหนี่ 5. ขยันทำงาน คือ ไม่เกียจคร้านเอาแต่ออกงาน นอน กิน หรือเที่ยวแต่อย่างเดียว ต้องทำงานบ้านด้วย 14. การทำงานไม่ให้คั่งค้าง ว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้งานคั่งค้างนั้นสรุปสาเหตุได้เพราะว่า.. 1. ทำงานไม่ถูกกาล 2. ทำงานไม่ถูกวิธี 3. ไม่ยอมทำงาน หลักการทำงานให้เสร็จลุล่วงมีดังนี้ 1. ฉันทะ คือ มีความพอใจในงานที่ทำ 2. วิริยะ คือ มีความตั้งใจ พากเพียรในงานที่ทำ 3. จิตตะ คือ มีความเอาใจใส่ในงานที่ทำ 4. วิมังสา คือ มีการคิดพิจารณาทบทวนงานนั้น ๆ 15. การให้ทาน การให้ทาน คือ การให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนโดยหมายให้ผู้ได้รับได้พ้นจากทุกข์ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ 1. อามิสทาน คือ การให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงินเป็นทาน 2. ธรรมทาน คือ การสอนให้ธรรมะเป็นความรู้เป็นทาน 3. อภัยทาน คือ การให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา ไม่จองเวร หรือพยาบาทกัน การให้ทานที่ถือว่าเป็นความดี และได้บุญมากนั้นจะประกอบด้วย ปัจจัย ๓ ประการอัน ได้แก่ 1. วัตถุบริสุทธิ์ คือ เป็นของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ไปยักยอกมา โกงมา หรือได้มาด้วยวิธีแยบยล 2. เจตนาบริสุทธิ์ คือ มีจิตยินดี ผ่องใสเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้ ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ 3. บุคคลบริสุทธิ์ คือ ให้กับผู้รับที่มีศีลธรรม ตัวผู้ให้เองก็ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์ การให้ทานที่ถือว่าไม่ดี และยังอาจเป็นบาปกรรมถึงเราทางอ้อมอีกด้วย ได้แก่ 1. ให้สุรา ยาเสพย์ติด เป็นต้น (ถ้าเขาเมาแล้วขับรถชนตาย เราก็มีส่วนบาปด้วย) 2. ให้อาวุธ (ถ้าอาวุธนั้นถูกเอาไปใช้ประหัตประหาร บาปก็มาถึงเราด้วย)
3.
ให้มหรสพ คือ การบันเทิงทุกรูปแบบ
4. ให้สัตว์เพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ อันนี้รวมถึงการจัดหาสาว ๆ ไปบำเรอผู้มีอำนาจหรือผู้น้อยด้วย เป็นต้น 5. ให้ภาพลามก หรือสิ่งพิมพ์ลามก เพราะทำให้เกิดความกำหนัด เกิดกามกำเริบ (เมื่อดูแล้วเกิดไปฉุดคร่า ข่มขืนใคร บาปก็ตกทอดมาถึงเราด้วย) 16. การประพฤติธรรม การประพฤติธรรม ก็คือการปฏิบัติให้เป็นไป แบ่งออกได้เป็น 2 อัน ได้แก่ กายสุจริต คือ 1. การไม่ฆ่าสัตว์ หมายรวมหมดตั้งแต่สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ และมนุษย์ 2. การไม่ลักทรัพย์ หมายรวมถึงการคอรัปชั่น ไปหลอกลวง ปล้นจี้ชาวบ้านด้วย 3. การไม่ประพฤติผิดในกาม หมายรวมถึงการคบชู้ นอกใจภรรยา และการข่มขืนด้วย วจีสุจริต คือ 1. การไม่พูดเท็จ คือการพูดแต่ความจริง ไม่หลอกลวง 2. การไม่พูดคำหยาบ คือคำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู เกิดความรู้สึกไม่สบายใจรวมหมด 3. การไม่พูดจาส่อเสียด การนินทาว่าร้าย 4. การไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล คือการพูดที่ไม่เป็นสาระ หาประโยชน์อันใดมิได้ มโนสุจริต คือ 1. การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น คือการนึกอยากได้ของเขามาเป็นของเรา 2. การไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น คือการนึกอยากให้คน อื่นประสพเคราะห์กรรม คิดจะทำร้ายผู้อื่น 3. การเห็นชอบ คือมีความเชื่อความเข้าใจในความเป็นจริง ความถูกต้องตามหลักคำสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา 17. การสงเคราะห์ญาติ ลักษณะของญาติที่ควรให้การสงเคราะห์ เมื่ออยู่ในฐานะดังนี้ 1. เมื่อยากจนหาที่พึ่งมิได้ 2. เมื่อขาดทุนทรัพย์ในการค้าขาย 3. เมื่อขาดยานพาหนะ 4. เมื่อขาดอุปกรณ์ทำมาหากิน 5. เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย 6. เมื่อคราวมีธุระการงาน 7. เมื่อคราวถูกใส่ความหรือมีคดี การสงเคราะห์ญาติ ทำได้ทั้งทางธรรมและทางโลก ได้แก่ ในทางธรรม ก็ช่วยแนะนำให้ทำบุญกุศล ให้รักษาศีล และทำสมาธิภาวนา ในทางโลก ก็ได้แก่ 1. ให้ทาน คือ การสงเคราะห์เป็นทรัพย์สิน หรือเงินทองเพื่อให้เขาพ้นจากทุกข์หรือความลำบากตามแต่กำลัง 2. ใช้ปิยวาจา คือ การพูดเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน สุภาพ และประกอบไปด้วยความปรารถนาดี 3. มีอัตถจริยา คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับเขา อาจช่วยเหลือด้วยแรงกาย กำลังใจ หรือด้วยความสามารถที่มี 4. รู้จักสมานัตตตา คือ การวางตัวให้เหมาะสม อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ถือตัว 18. ทำงานที่ไม่มีโทษ งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ 1. ไม่ผิดกฎหมาย คือ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง 2. ไม่ผิดประเพณี คือ แบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม 3. ไม่ผิดศีล คือ ข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล 5 4. ไม่ผิดธรรม คือ หลักธรรมทั้งหลาย เช่น การพนัน การหลอกลวง ส่วนอาชีพต้องห้ามสำหรับพุทธศาสนิกชน ได้แก่ 1. การค้าอาวุธ 2. การค้ามนุษย์ 3. การค้ายาพิษ 4. การค้ายาเสพย์ติด 5. การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า 19. ละเว้นจากบาป บาปคือสิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาปได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 คือ 1. ฆ่าสัตว์ 2. ลักทรัพย์ 3. ประพฤติผิดในกาม 4. พูดเท็จ 5. พูดส่อเสียด 6. พูดคำหยาบ 7. พูดเพ้อเจ้อ 8. โลภอยากได้ของเขา 9. คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น 10. เห็นผิดเป็นชอบ 20. สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ว่าด้วยเรื่องของน้ำเมานั้น อาจทำมาจากแป้ง ข้าวสุก การปรุงโดยผสมเชื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่น เบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนมีโทษอันได้แก่ 1. ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหาทั้งๆที่เงินจำนวนเดียวกันนี้ สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า 2. ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ 3. ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มสุราล้วนแล้วแต่บั่นทอน สุขภาพกายจนถึงตายได้เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน 4. ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดีเข้าเช่นไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูล และหน้าที่การงานเสื่อมเสีย 5. ทำให้ลืมตัวไม่รู้จักอาย คนเมาทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำสิ่งที่คนมีสติจะไม่ทำ เช่นแก้ผ้าเดิน หรือนอนในที่สาธารณะ เป็นต้น 6. ทอนกำลังปัญญา ทานแล้วทำให้เซลล์สมองเริ่มเสื่อมลง ก็จะทำให้สุขภาพและปัญญาเสื่อมถอย ความสามารถโดยรวมก็ด้อยลง |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น